วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

เมื่อท่านถูกสั่งให้เป็นล่าม

สวัสดีครับ
กรมพัฒน์ของเราทุกวันนี้โกอินเตอร์มากขึ้น มีคนต่างชาติเข้ามาติดต่อมากขึ้น ทั้งในฐานะผู้ให้และผู้รับ โดยทั่วไปเขามักจะพูดภาษาอังกฤษ และมักต้องมีล่ามเมื่อมีการประชุม การ present ข้อมูล การนำชมสถานที่หรือหรือ site visit และถ้าท่านต้องเป็นล่าม ซึ่งในพจนานุกรมแปลว่า “ผู้แปลคำพูดจากภาษาหนึ่งเป็นอีกภาษาหนึ่งโดยทันที” ท่านจะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง ทำไมต้องเตรียมตัว ถ้าพูดในแง่บวกก็ต้องบอกว่า จะได้สามาถแปลได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน สร้างความพอใจให้แก่ผู้อำนวยการที่สั่งงาน และตัวท่านที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ล่าม แต่ถ้าพูดในแง่ลบก็ต้องบอกว่า เตรียมตัวเพื่อให้แปลผิดหรือแปลตกหล่นน้อยที่สุด ผู้อำนวยการไม่หงุดหงิดและตัวท่านไม่กังวลเมื่อถูกสั่งให้เป็นล่าม

ถ้าท่านโชคดี ท่านอาจมีโอกาสเตรียมตัวมากๆ ในการเป็นล่าม แต่บางทีโชคร้ายแทบไม่มีโอกาสเตรียมตัวเลย เอาเป็นว่าถ้าท่านมีเวลาเตรียมตัวก็น่าจะทำดังต่อไปนี้

1. ศึกษาภาษาที่ต้องใช้ในการแปล
เอาเอกสารทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทยที่ผู้เยือนและผู้เหย้าจะพูดมาศึกษาล่วงหน้า และนึกในใจหรือโน้ตในกระดาษว่าคำ-วลี-หรือประโยค ซึ่งอาจจะมีความหมายจำเพาะพวกนี้ อีกภาษาหนึ่งพูดว่าอย่างไร

ถ้าผู้เยือนมิได้ส่งเอกสารใดๆ มาให้เราศึกษาล่วงหน้า อาจจะอีเมลขอให้เขาส่งมาให้ เขามักจะให้ถ้าเขามีหรือเตรียมไว้แล้ว ในกรณีที่ต้องแปลสุนทรจน์หรือ speech ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทยหรืออังกฤษ เราสามารถแปลไว้ก่อนได้เลยครับ

2. ศึกษาเรื่องที่ต้องแปล
ถ้าเราไม่มีความรู้พื้นฐาน หรือมีแต่น้อยเกินไปในเรื่องที่ต้องเป็นล่าม โอกาสที่จะแปลผิดๆ ถูกๆ ตกๆ หล่นๆ มีมากทีเดียว เพราะบ่อยครั้งที่ผู้เยือนหรือผู้อำนวยการเจ้าของบ้านพูดขาดวลีสำคัญ หรือละไว้ในฐาน(ที่ตนเองคนเดียว) เข้าใจ แต่คนฟังอีกชาติหนึ่งไม่ได้เข้าใจด้วย ล่ามก็อาจจะต้องแปลเติมเข้าไปนิดหน่อยให้รู้เรื่อง ล่ามไม่มีทางทำอย่างนี้ได้หรอกครับ ถ้าเป็นคนนอกไม่เข้าใจเรื่องที่เขาพูดมาก่อน

3. อาจต้องเตี๊ยมกับผู้พูดชาวต่างชาติ
เนื่องจากเราไม่ใช่ล่ามอาชีพ และภาษาอังกฤษอาจไม่แข็งแรง อาจต้องคุยกับเขาว่า เขาจะพูดอะไร เรียงลำดับอย่างไร เราจะแปลทีละประโยค หรือทีละย่อหน้า อาจจะขอให้เขาพูดช้านิดนึง.. บอกเขาว่าสิ่งที่เขาพูดสำคัญมาก เราจึงไม่ต้องการแปลผิดแม้แต่คำเดียว เท่าที่ผมเคยเป็นล่ามพบว่าคนต่างชาติที่มาเยือนกรมฯ มีทั้งมือเก่าและมือใหม่ ถ้าเป็นมือเก่าเขาจะรู้ว่าจะพูดอย่างไรให้ล่ามแปลง่าย แม้แต่ปรับสำเนียงของเขาไม่ให้ออกแขกหรือออกจิงโจ้มากนัก ถ้ามาจากอินเดียหรือออสเตรเลีย แต่ถ้าเป็นผู้เยือนมือใหม่ ล่ามอาจจะปวดหัวมาก ปวดหัวมากกว่า จนถึงปวดหัวมากที่สุด

4. หาเวลาคุยกันนิดหน่อยถ้ามีเวลา
นี่ผมเอาประสบการณ์ตัวเองมาพูดเพราะเคยทำผิดๆ พลาดๆ มาเยอะแล้ว การได้คุยกันบ้างทำให้เราคุ้นเคยกับ accent ของเขา ก็จะไม่รู้สึกเดินบนทางที่ทุรกันดารมากนัก เมื่อต้องเป็นล่ามตามเขา

5. เตรียม Dictionary
เตรียม Dictionary ไว้ใกล้ตัวให้สามารถหยิบใช้ได้ทันท่วงที ไม่ใช่เรื่องน่าอายอะไรที่ล่ามต้องเปิด Dict. หากเป็นคำที่สำคัญ และห้ามแปลผิดเด็ดขาด ผมเคยเห็นล่ามเยอรมันในเวทีการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ หรือ WorldSkills พก Dict. ติดตัวเป็นประจำทุกครั้งที่แข่งขัน ทั้งๆ ที่เขาก็แปลคล่องมาก แต่ก็ไม่เคยขาด Dict.

มีเรื่องหนึ่งที่ต้องระวังขณะทำหน้าที่ล่าม คือถ้ารู้ตัวไม่แน่ใจในคำศัพท์หรือเนื้อหาที่แปล อย่าดำน้ำแปลไปอย่างเนียนๆ หรือแปลมั่วอย่างกลมกลืน หลายครั้งที่เราอาจจะรู้ศัพท์ แต่เนื้อหาที่คุยกันมัน complicated หรือค่อนข้างซับซ้อนสับสน จนไม่แน่ใจว่ามันคืออะไรกันแน่ เราสามารถหยุดเพื่อถามคนพูดว่าประโยคนี้คุณหมายความว่ายังไง บ่อยครั้งตัวเราในฐานะล่ามสามารถหาคำไทยมาเทียบคำอังกฤษ แล้วแปลออกไปทำนองแปลคำต่อคำ แต่พอเป็นภาษาไทยแล้วความหมายมันไปคนละทางกับที่คนพูดต้องการสื่อ การหยุดเพื่อถามไม่ถือว่าผิดครับ

ล่ามอาจจะไม่ต้องแปลทุกคำ แต่ล่ามต้องแปลเก็บใจความให้ครบ ล่ามอาจจะต้องยก ศัพท์-วลี-หรือประโยคเด่นๆ ของผู้พูดมาแปลคำต่อคำ สมุดโน้ตที่เหมาะมือจึงขาดไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าต้องเดินไป-แปลไป เช่นตอนพาชาวต่างชาติชม workshop ต่างๆ

สำหรับเพื่อนข้าราชการที่อยู่ตามกอง สถาบัน หรือศูนย์ต่างๆ ที่ถูก (ได้รับการ) มอบหมายให้เป็นล่าม ผมว่าเป็นโอกาสดีนะครับที่จะได้ทำงานนี้ การเป็นล่ามทำให้เราต้องใช้ทักษะครบเครื่องคือ ฟัง-พูด-อ่าน-เขียน ถือว่าเป็นโอกาสทองทีเดียวครับ
InterelaDSD


เขียนโดย pipat - blogger ที่ ๑๔:๕๗

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น